วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

กิจกรรมท้ายบท


1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเรื่องการพัฒนามนุษย์ การศึกษาการเรียนรู้และหลักสูตร

            ตอบ การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาและเป็นเครื่องชี้นำสังคม ผู้ได้รับการศึกษาจึงเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การเรียนการสอนเป็นการพัฒนาคน ซึ่งไม่ใช่สิ่งทดลองหรือลองผิดลองถูก กระบวนการพัฒนาคนนั้นครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การออกแบบการสอนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสอน เพื่อให้การสอนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยอาศัยระบบที่มีขั้นตอนพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
            การศึกษา (Education) เป็นการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ให้สามารถปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างจากงานเดิมได้ การศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนามนุษย์ ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง และในฐานะที่เป็นทรัพยากร การศึกษาเป็นการพัฒนาคนที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ (knowledge-based) วิจิตร ศรีสะอ้าน (2539 : 232 - 233) กล่าวว่า การศึกษามีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1)      การศึกษาเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ปรารถนา
2)      การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เป็นไปโดยจงใจ โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดไว้
3)      การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้กระทำเป็นระบบ มีกระบวนการอันเหมาะสมและผ่านสถาบันทางสังคมที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
            พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต, 2539 : 2 - 4 ) กล่าวไว้ว่า  ทรัพยากรมนุษย์ เป็นคำที่เกิดมาไม่นานนัก (เกิดในช่วง ค.ศ.  19651970 คือ พ.ศ. 25082513) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อมาก็ขยายไปถึงการพัฒนาสังคม เป็นการมองคนอย่างเป็นทุน เป็นเครื่องมือเป็นปัจจัยหรือเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาเราเห็นว่าการที่จะพัฒนาโดยมุ่งเน้นแต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนเรานี่เอง ซึ่งควรจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราจึงหันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน แต่ก็ยังมีการใช้ศัพท์ที่ปะปนกัน บางทีใช้คำว่าทรัพยากรมนุษย์ บางที่ใช้คำว่าพัฒนามนุษย์
การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ กับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้มีความหมายต่อการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง และในฐานะที่เป็นทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวมนุษย์นั้น เป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาระยะยาว) ส่วนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายขึ้นกับกาลเทศะ หรือยุคสมัยมากกว่า คือเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้น (การศึกษาระยะสั้น) เช่น เพื่อสนองความต้องการของสังคมในด้านกำลังคนในสาขางานและกิจการต่าง ๆ ฉะนั้นเราจึงควรจัดการศึกษาทั้งสอง อย่างนี้ให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาทั้งสองส่วนนี้ให้สัมพันธ์กันจนเกิดดุลยภาพขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมมาก
            พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตโต  2540 : 1)  กล่าวว่า  ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือ การศึกษา  คนที่มีการศึกษา ตลอดจนจบการศึกษาแล้วเรียกว่า บัณฑิต เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระ บัณฑิต ก็คือ คนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตของตนจนลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต

            การพัฒนา (Development) เป็นการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ มุมมองใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างสรรค์งานได้ผลดียิ่งขึ้น มีบริการที่รวดเร็วกว่า  มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น   เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนารายบุคคลแต่ไม่เกี่ยวข้องกับงานปัจจุบันหรืออนาคต  บุคลากรในองค์กรทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้อยู่ในแนวหน้า ปัจจุบันเราเรียกองค์กรนี้ว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ การพัฒนามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เป็นระบบ ทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและต่อเนื่อง มีการปรับบทบาทหน้าที่ การคงอยู่ขององค์กร
            กล่าวโดยสรุปการศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มุ่งการจัดระบบประสบการณ์การเรียนรู้ การดำเนินการภายในเวลาที่จำกัด เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ และการเจริญเติบโตของงาน การพัฒนามนุษย์ (Human Development) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2545 และ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. 2553 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอก และการศึกษาตามอัธยาศัย หลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ ต้องมีลักษณะหลากหลาย ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทั้งสามฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการศึกษา อาจสรุปหลักการด้านหลักสูตร ปรากฏตามมาตราต่าง ๆ ดังนี้
มาตรา 8 (3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรภาคบังคับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
มาตรา 28 หลักสูตรสถานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับบุคคลพิการ ต้องมีลักษณะหลากหลาย ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
สาระของหลักสูตรทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ยังมีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูง และด้านการค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาทางสังคม

หลักสูตร
2.1 ความหมายของ หลักสูตร
              คำว่า หลักสูตรแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “curriculum” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “currere” หมายถึง “running course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง ต่อได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence or learning experience” (Armstrong,1986:2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้ในสมัยก่อนในประเทศไทยใช้คำว่า หลักสูตรกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “syllabus” ปรากฏในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พุทธศักราช 2503 ฉบับภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Syllabus for Lower secondary Educationm B.E. 2503และ “Syllabus for Upper secondary Educationm B.E. 2503แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “curriculum” แทน เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรุง2533) ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lower Secondary School Curriculum B.E.2521 (Revised Education B.E.2533)”  เพื่อต้องการแยกความหมายให้ชัดเจน เพราะคำว่า syllabus และ curriculum มีความหมายที่แตกต่างกันดังที่ English Language Dictionary ให้ความหมายของคำทั้งสองดังนี้
               “curriculum” หมายถึง 1. รายวิชาต่างๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย (all the different courses of study that are taught in a school, college, or university e.g. the school curriculum) และ 2. รายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (one particular course of study is taught in a school, college, or university e.g. the English curriculum )
               “syllabus” หมายถึง หัวข้อเรื่องที่จะศึกษาในรายวิชาหนึ่งๆ (the subjects to be studied in a particular course) จากความหมายข้างต้นนี้จะเห็นว่า คำว่า “curriculum” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจะเหมาะกว่าคำว่า “syllabus” ส่วนคำว่า “syllabus” จะใช้เมื่อหมายถึงประมวลการสอนในแต่ละรายวิชาซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล หลักสูตรเป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไปบางความหมายมีขอบเขตกว้างบางความหมายมีขอบเขตแคบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลนั้นๆ ที่มีต่อหลักสูตร เช่น
               กู๊ด (Good,1973:157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตรคือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา
              บ๊อบบิท (Bobbit,1918:42)ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือรายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชน ต้องทำและมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
              นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley and Evans,1967:2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของนักเรียน
              โอลิวา (Oliva,1982:10) กล่าวว่า หลักสูตรคือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
              วีลเลอร์ (Wheenler,1974:11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
              โครว์ (Crow,1980:250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่า หลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อนักเรียนมีการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
              แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell &Campbell,1935:69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum Development ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1935 โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแลการสอนของครูแคสเวนและแคมป์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู
              เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor&Alexander,1974:6)ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทาบา (Taba,1962:10) ที่กล่าวไว้ว่า หลักสูตรคือ แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล
              เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver and berlak,1968:9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่นเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
              ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller,1973:11-12) กล่าวว่า หลักสูตรคือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน
              นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น และความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการเช่น
              สุมิตร คุณานุกร (2520,2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ คือหลักสูตรในระดับชาติและหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรระดับชาติหมายถึง โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียนหมายถึง โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้
              ธำรง บัวศรี (2532:6) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
              เอกวิทย์ ณ ถลาง (2521:108) เขียนในบทความเรื่อง ข้อคิดเรื่องหลักสูตรได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียน เนื้อหาวิชาและทัศนคติ แบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น
                   จากความหมายของหลักสูตรในลักษณะต่างๆ ที่ได้ยกตัวอย่างของระดับความคิดของ            นักการศึกษาทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย สามารถนำมาสรุปแนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของหลักสูตรเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ดังนี้
              3.1.1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
              หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระนั้นหมายถึงวิชาและเนื้อหาสาระที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนในชั้นและระดับต่างๆ หรือกลุ่มวิชาที่จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หลักสูตรเตรียมแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ หลักสูตรธุรกิจ หลักสูตรตัดเสื้อและหลักสูตรการเลี้ยงสุกร
              จากอดีตตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรจนถึงปัจจุบันนี้ แนวคิดที่สำคัญของความหมายของหลักสูตรก็ยังคงเป็นวิชาและเนื้อหาวิชาที่ครูสอนให้ และนักเรียนใช้เรียนในสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ    แม้จะได้มีความพยายามที่จะทำให้หลักสูตรมีความหมายที่กว้างและแตกต่างไปจากเดิมแต่แนวความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชา และเนื้อหาที่จัดให้แก่ผู้เรียนก็ยังคงฝังแน่นและเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดหลักสูตร
              3.1.2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
              กลุ่มหนึ่งจัดให้จัดให้อีกกลุ่มหนึ่ง  ประกอบด้วยจุดหมาย หลักการ โครงสร้าง เนื้อหาสาระ อัตราเวลาเรียน  กิจกรรมประสบการณ์ และการประเมินผลการเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนมีรู้ความสามารถ มีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน  มีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร แนวคิดนี้จะเน้นหลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารเป็นรูปเล่ม  ซึ่งจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ เอกสารหลักสูตร และเอกสารประกอบหลักสูตร
              เอกสารหลักสูตรเป็นเอกสารที่กล่าวถึงสาระของหลักสูตรโดยตรง  คือกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักการ  โครงสร้าง  และเนื้อหาที่จัดไว้ในหลักสูตรนั้นๆ เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น  พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2533) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น
              ส่วนเอกสารประกอบหลักสูตร  เป็นเอกสารที่อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ  ของหลักสูตรเพื่อให้การนำหลักสูตรไปใช้ได้ผลตามความมุ่งหมาย  ตัวอย่างเอกสารประกอบหลักสูตรได้แก่  คู่มือหลักสูตร  คู่มือครูเกี่ยวกับหลักสูตร  แผนการสอนกลุ่มวิชาต่างๆ หรือคู่มือการประเมินผลการเรียน
              3.1.3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่ผู้เรียน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆ  ที่จัดให้แก่ผู้เรียนนี้เป็นการมองหลักสูตรในลักษณะของกิจกรรมต่างๆ  ที่ครูและนักเรียนจัดขึ้น  หรือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมไว้และจัดให้แก่ผู้เรียนโดยโรงเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้  ประสบการณ์  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด  กิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ  เพราะจะนำไปสู่ประสบการณ์ทางด้านความรู้  ความเข้าใจ  เจตคติ ทักษะต่างๆ อันแสดงถึงการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  กิจกรรมที่ควรจัดให้แก่ผู้เรียนจะต้องปรากฏอยู่ในหลักสูตรอย่างชัดเจน  หลักสูตรหมายถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดให้ผู้เรียน
              3.1.4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียนนี้  จะเป็นแผนในการจัดการศึกษาเพื่อแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ  โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ  และพฤติกรรมตามที่กำหนด  แผนสำหรับจัดโอกาสทางการศึกษาจะแสดงเกี่ยวกับจุดหมายหรือจุดประสงค์ของการออกแบบหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล  แผนนี้สร้างขึ้นตามประเภทสถานการณ์หรือกลุ่มบุคคลในระดับการศึกษาต่างๆ  เช่น  หลักสูตรก่อนวัยเรียน  หลักสูตรประถมศึกษา  หลักสูตรอุดมศึกษา  หรืออาจหมายถึงกลุ่มของแผนย่อยต่างๆ  ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวัง
              3.1.5. หลักสูตรในฐานะที่เป็นมวลประสบการณ์
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์ของผู้เรียนนั้น  หมายถึงประสบการณ์  ทุกอย่างของนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน  รวมถึงเนื้อหาวิชาที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนด้วย  แนวคิดนี้เกิดจากสาเหตุ  2  ประการ  คือ  ประการหนึ่ง  การไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของหลักสูตรในความหมายแคบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการรอบด้านขึ้นในตัวผู้เรียน  ประการที่สอง  การสอนของครูที่ยึดหนังสือเรียนและเนื้อหาสาระมากเกินไปทำให้การสอนจืดชืดไม่มีชีวิตชีวา  โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ  เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด     ได้กระทำ  ได้แก้ปัญหา  และค้นพบด้วยตนเอง  การจัดหลักสูตรจึงควรพิจารณาถึงประสบการณ์    ทุกด้านที่พึ่งมีของผู้เรียน
              ความหมายของหลักสูตรตามแนวคิดนี้ครอบคลุมความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบโรงเรียนที่จัดให้แก่ผู้เรียน  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้  แนวคิดในความหมายของหลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นความหมายในแนวกว้างและสมบูรณ์ที่สุด  เพราะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน
              3.1.6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
              แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางนั้น  เป็นสิ่งที่สังคมมุ่งหวังหรือคาดหวังให้เด็กได้รับ  กล่าวคือ  ผู้ที่ศึกษาจนจบหลักสูตรไปแล้วจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างจะเกิดผลอย่างไรในตัวผู้เรียนบ้าง  แนวคิดนี้มองหลักสูตรในฐานะที่ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวังที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้  ดังนั้น  การจัดการหลักสูตร  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  เนื้อหาสาระกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล  จำต้องศึกษาและวางแผนให้สอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย
              3.1.7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนนั้น  เป็นการมองหลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนการเตรียมโอกาสของการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่จัดขึ้นโดยโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยรวมเอาแผนย่อยๆ ที่เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่คาดหวังเข้าไว้ด้วยกัน  แผนงานนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่จะมีการวางแผนสำหรับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น แผนงานจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน
              จากความหมายของหลักสูตรข้างต้นจะเห็นว่า  ความหมายของหลักสูตรมีการขยายความหมายและเปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสามารถสรุปได้ดังนี้
                   1. ยุคสมัยหรือกาลเวลา จะเห็นได้ว่า แต่ละยุคแต่ละสมัย มนุษย์เล็งเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากการศึกษาต่างๆ กัน
                   2. ความเชื่อในปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษา ความเชื่อปรัชญาที่เปลี่ยนไปทำให้ความหมายของหลักสูตรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเชื่อในปรัชญาจิตนิยม และช่วงที่จิตวิทยายังไม่เข้ามามีบทบาททางการศึกษา ความหมายของหลักสูตรก็คือเนื้อหาวิชาที่ให้เด็กเรียน ต่อมาเมื่อมีความเชื่อในปรัชญาพิพัฒนาการนิยม และมีจิตวิทยาเข้ามามีบทบาททางการศึกษา ความหมายของหลักสูตรก็เปลี่ยนเป็นกิจกรรมหรือมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้แก่เด็ก
                   3. สภาพการดำรงชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนลัทธิการปกครองก็เป็นตัวกำหนดความหมายของหลักสูตรด้วยส่วนหนึ่ง



1.     2. การศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ  อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตร: นิยาม ความหมาย

            ตอบ  คำว่า หลักสูตรภาษาอังกฤษ เขียนว่า 
Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า“currere” หมายถึง “race – course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งขัน เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการศึกษา จึงหมายถึง running sequence of courses or learning experience เปรียบเสมือน เส้นทางที่ผู้เรียน จะต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ (วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:105)
    ความหมายของหลักสูตรตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546 คือ ประมวลวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความหมายของหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ

                ความหมายของหลักสูตร ตามความเชื่อทางการศึกษาและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในส่วนนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของหลักสูตรไว้ โดยสรุปดังนี้ (สุเทพ อ่วมเจริญ, 2555 : 2-3)
               
          บอบบิต (Bobbit, F. 1918) อธิบายคำว่า หลักสูตร หมายถึง วิถีทางที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่เด็กแต่ละคน จะต้องก้าวผ่าน เพื่อเติบโตขึ้น นอกจากโรงเรียนแล้ว ประสบการณ์นอกโรงเรียนก็นับเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน
        
          เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Salor, Alexzander and Lewis 1981) ได้ให้คำนิยาม หลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ การจัดเตรียมมวลประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสัมฤทธิ์ผล ความมุ่งหมายทางการศึกษาอย่างกว้างๆ และจุดมุ่งหมายเฉพาะโรงเรียน
        
          ปริ้น (Print.M., 1993:9) ได้ศึกษานิยามของนักพัฒนาหลักสูตรแล้ว สรุปว่า หลักสูตรจะกล่าวถึง
                · แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
                ·  สิ่งที่เสนอในสถาบันการศึกษา/โปรแกรมการศึกษา
                ·  การนำเสนอในรูปเอกสาร
                ·  รวมถึงผลของประสบการณ์จากการนำเอกสารต่างๆไปใช้
        
          สมิธ (Smith,M.K. 1996) ได้ให้แนวคิดในการนิยาม หลักสูตรตามทฤษฎีและการปฏิบัติหลักสูตร
4 ทิศทาง ดังนี้
                      
              1. หลักสูตรเป็นองค์ความรู้ที่จะส่งผ่านให้ผู้เรียน
              2. หลักสูตรเป็นความพยายามที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์
                        3. หลักสูตรเป็นกระบวนการ
                        4. หลักสูตรเป็น Praxis หมายถึง การปฏิบัติของมนุษย์และความเข้าใจในการปฏิบัตินั้น
              โอลิว่า (Oliva, 1997) สรุปไว้ว่าหลักสูตร หมายถึง :
                        ·  สิ่งที่นำมาสอนในโรงเรียน
                        ·  ชุดของวิชา
                        ·  เนื้อหาวิชา
                        ·  โปรแกรมการเรียนของนักเรียน
                        ·  ชุดของวัสดุ
                        ·  ลำดับของรายวิชา
                        ·  ชุดของจุดประสงค์การปฏิบัติ
                        ·  รายวิชาที่เรียน
                        · เป็นทุกสิ่งที่ช่วยให้โรงเรียนก้าวหน้าไป รวมถึงกิจกรรมเสริมในชั้นเรียน การแนะแนว และ
                        สัมพันธภาพระหว่างบุคคล
                        ·  ทุกๆสิ่งที่เป็นแผนงานของบุคลากรในโรงเรียน
                        ·  เป็นอนุกรมของประสบการณ์โดยผู้เรียนในโรงเรียน
                        ·  ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่ละคนที่เป็นผลจากการศึกษาเล่าเรียน
                นอกจากนี้ ผศ. ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ ยังได้รวบรวมแนวคิดของนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรของ
          ต่างประเทศ เกี่ยวกับความหมายของหลักสูตร นอกจากที่กล่าวมาแล้ว (มาเรียม นิลพันธุ์, 2543 : 6) ดังนี้
                คาสเวลและแคมเบล (Caswell and Cambell, 1935 : 66) ได้ให้คำจำกัดความว่า หลักสูตรเป็นสิ่ง
          ที่ประกอบด้วยประสบการณ์ทั้งมวลของเด็ก ภายใต้การแนะแนวของครู
                ไทเลอร์ (Tyler, 1949 : 79) ได้สรุปว่าหลักสูตร เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด โดยมีโรงเรียนเป็นผู้
          วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา
                ทาบา (Taba, 1962 : 11) ให้คำสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรอย่างสั้น ๆ ว่า หลักสูตรเป็นแผนการเกี่ยวกับ
          การเรียนรู้
                กู๊ด (Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ
                1.หลักสูตร หมายถึง เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เพื่อสำเร็จหรือรับ
ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง
                2.หลักสูตร หมายถึง เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน ซึ่งโรงเรียนจัด
ให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป
                3.หลักสูตร หมายถึง กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การ
แนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา
                โอลิวา (Oliva, 1992 : 8-9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็นการให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ บริบทหรือสภาพแวดล้อม และวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ ดังนี้
                1.การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตรจึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไรหลักสูตรในแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนั้น ๆ เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดผู้เรียน เป็นต้น
                2.การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามของหลักสูตร ในลักษณะนี้จึงเป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หรือหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือหลักสูตรที่เน้นการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
                3.การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการนิยามในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่ม หลักสูตร คือ การเรียนรู้เป็นรายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
              โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียน ภายใต้การดำเนินงานของโรงเรียน และในทางปฏิบัติหลักสูตรประกอบด้วยจำนวนของแผนการต่าง ๆ ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และมีขอบเขตกว้างหลากหลาย เป็นแนวทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (course) หรือเป็นรายวิชาย่อยต่าง ๆ (sequence of courses) แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าวนี้อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอก
ชั้นเรียนหรือโรงเรียนก็ได้

ความเห็นของนักวิชาการไทย

            นักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศไทย ได้ให้คำจำกัดความของหลักสูตรไว้ ดังนี้
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2521 : 12) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ ข้อกำหนดที่ประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง แนวทาง วิธีการ เนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการเรียนการสอน
ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร หมายถึง กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน                          
สวัสดิ์ ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง
มาเรียม นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
นิรมล ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร             
กาญจนา คุณารักษ์ (2553 : 38) หลักสูตรคือ โครงการหรือแผน หรือข้อกำหนด อันประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ในสังคม และในโลกอย่างมีคุณภาพและอย่างมีความสุข
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:6) วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรซึ่งโอลิวา (Oliva, 2009:3) ให้ไว้ พบว่าความหมายที่แคบของหลักสูตรคือ วิชาที่สอน ส่วนความหมายที่กว้างของหลักสูตรคือ มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับผู้เรียน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ธำรง บัวศรี (2542 : 7) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงจุดหมาย การจัดเนื้อหากิจกรรม และประมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามจุดหมายที่กำหนดไว้
สุเทพ อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร หมายถึง ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้

สรุปความหมาย หลักสูตร
จากความหมายข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า
หลักสูตร คือ โครงสร้างของเนื้อหาวิชา หรือประสบการณ์ต่าง ๆ หรือศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์

อ้างอิง http://noppawansilpakorn.blogspot.com/
           http://patthadon-dit9941.blogspot.com/2017/08/1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น